บทคัดย่อ

การประชุมวิชาการประชากรศาสตร์แห่งชาติ 2564 รูปแบบออนไลน์
โดย สมาคมนักประชากรไทย
วันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2564


ประชากรสูงวัยและนโยบายประชากร

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบค้นร่องรอยการจัดวางกลไกของรัฐในวิชาหน้าที่พลเมืองของ 5 ประเทศ ได้แก่ 1) เครือรัฐออสเตรเลีย 2) สาธารณรัฐสิงคโปร์ 3) ญี่ปุ่น 4) อังกฤษ และ 5) สหรัฐอเมริกา ด้วยวิธีการวิจัยเอกสาร และวิเคราะห์ผ่านทฤษฎีกลไกของรัฐ ของหลุยส์ อัลธูแซร์ (1971) ผลการศึกษาพบว่า ประวัติศาสตร์การพัฒนาการศึกษาวิชาหน้าที่พลเมือง รัฐแต่ละประเทศได้ใช้วิชาหน้าที่พลเมืองเป็นกลไกสำคัญ ในการออกแบบคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้แก่ผู้เรียนตั้งแต่ในวัยเยาว์ โดยการขับเคลื่อนผ่านกลไกเชิงนโยบายใน 2 ลักษณะที่สำคัญคือ กลไกการกดทับ และกลไกเชิงอุดมการณ์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดวางความคิดและปลูกฝังอุดมการณ์ความเป็นพลเมืองให้สอดคล้องกับอุดมการณ์หลักที่รัฐต้องการ การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติของรัฐบาล กระทำผ่านระบบการศึกษาของรัฐ ผ่านหลักสูตร ระบบการเรียนการสอน สื่อการสอน กฎระเบียบข้อบังคับของสถานศึกษา ที่เปลี่ยนแปลงตามบริบทและช่วงเวลา โดยวิชาหน้าที่พลเมืองมีชื่อเรียกและเนื้อหาการสอนแตกต่างกัน จากสาเหตุทั้งปัจจัยภายในซึ่งเป็นปัจจัยหลักคือ วิสัยทัศน์ของรัฐบาล ปัจจัยด้านบริบททางสังคม ที่มีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายและเนื้อหาการสอน อาทิ การเรียกร้องของพลเมือง กลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มการเมือง และภาคประชาสังคม ตลอดจนปัจจัยภายนอก คือ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองของประชาคมโลก อาทิ การเกิดสงครามโลก การลงนามความร่วมมือในประเด็นทางสังคมระหว่างประเทศ ความก้าวหน้าของเครือข่ายเทคโนโลยี และกระแสนิยมในระบอบประชาธิปไตย

คำสำคัญ:  กลไกของรัฐ  วิชาหน้าที่พลเมือง

 

บทคัดย่อ

มาตรการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex) เป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์มาตรการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ รวบรวมข้อมูลด้วยการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จากหน่วยงานของรัฐ และการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในนโยบายทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ และตัวแทนผู้สูงอายุ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยกรอบแนวคิดสามเหลี่ยมนโยบาย Policy Triangle Framework ผลการศึกษาพบว่า โครงการที่มีความก้าวหน้าและโอกาสต่อความสำเร็จในปัจจุบันคือ โครงการศูนย์ที่พักอาศัยผู้สูงอายุ “รามาฯ-ธนารักษ์” อยู่ภายใต้ความร่วมมือในการดำเนินงานของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นมาตรการที่ดำเนินการภายใต้หน่วยงานของรัฐที่มีข้อตกลงในการดำเนินงานร่วมกันโดยการแบ่งสัดส่วนและบทบาทของการรับผิดชอบตามภารกิจและความเชี่ยวชาญของหน่วยงาน ซึ่งบริบททางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและปัจจัยแวดล้อมมีผลต่อการเกิดขึ้นของมาตรการและโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นหน่วยงานระดับกรมและมหาวิทยาลัยระดับประเทศที่ดำเนินงานภายใต้การทำข้อตกลงในการดำเนินงาน การศึกษานี้สะท้อนว่ามาตรการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (senior complex) สามารถเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุที่ยังคงมีสุขภาพแข็งแรง และมีศักยภาพทางการเงินเพื่อที่จะสามารถอยู่อาศัยและได้รับบริการที่เหมาะสมจากโครงการ มาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุในการสร้างที่อยู่อาศัยหรือมาตรการอื่น ที่ดำเนินงานโดยภาครัฐ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีความศักยภาพและความสามารถและอาศัยกลไกความร่วมมือในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าของการดำเนินงาน และสามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายหรือมาตรการสู่การปฏิบัติหรือการทำให้เป็นรูปธรรม

คำสำคัญ: ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ สังคมผู้สูงอายุ

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงเอกสารนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและสังเคราะห์ความแตกต่างระหว่างผู้สูงอายุชายและหญิงที่ปรากฏภายใต้ระดับพฤฒพลังของผู้สูงอายุในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และ 4 ประเทศในกลุ่มอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three: APT/ ASEAN+3) ได้แก่ จีน เกาหลี ประเทศไทย และประเทศอินโดนีเซีย โดยในการวัดระดับพฤฒพลังดังกล่าวได้ใช้ดัชนีพฤฒพลัง (Active Ageing Index: AAI) ของ United Nations Economic Commission for Europe (UNECE) ทั้งหมด ซึ่งดัชนีพฤฒพลังนี้ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ การจ้างงาน การมีส่วนร่วมทางสังคม การดำรงชีวิตได้อย่างอิสระมีสุขภาพดีและมีความมั่นคง และความสามารถและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีพฤฒพลัง จากผลการศึกษามีข้อค้นพบสำคัญประการหนึ่งคือ ถึงแม้ผู้สูงอายุชายและหญิงในแต่ละประเทศจะมีระดับพฤฒพลังด้านต่าง ๆ แตกต่างกันไป และไม่ว่าผู้สูงอายุจะอยู่ในบริบทสังคมและวัฒนธรรมใดก็ตาม ผู้สูงอายุชายจะมีระดับพฤฒพลังด้านการจ้างงานสูงกว่าผู้สูงอายุหญิงเป็นอย่างมาก ดังนั้น ในการกำหนดนโยบายสำหรับผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสในการทำงานกับผู้สูงอายุอย่างเท่าเทียม เพื่อให้ผู้สูงอายุทั้งชายและหญิงสามารถมีอาชีพและรายได้ในการดำรงชีวิตและพึ่งพาตนเองได้

คำสำคัญ: พฤฒพลัง ดัชนีพฤฒพลัง ความแตกต่างระหว่างผู้สูงอายุชายและหญิง

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงสำรวจแบบภาคตัดขวางนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับคุณภาพชีวิตและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่มีความพิการทางกายและการเคลื่อนไหว กลุ่มตัวอย่างคือผู้สูงอายุที่มีความพิการทางกายและการเคลื่อนไหวที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป อาศัยอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 375 คน ซึ่งได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เก็บข้อมูลโดยใช้การสัมภาษณ์ ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม ถึง 31 ตุลาคม พ.ศ. 2563 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการใช้สถิติการทดสอบไคสแควร์ และสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการศึกษา พบว่า ผู้สูงอายุที่มีความพิการทางกายและการเคลื่อนไหวมีคุณภาพชีวิตอยู่ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 63.2 ระดับดี ร้อยละ 31.7 ระดับไม่ดี ร้อยละ 5.1 ปัจจัยที่มีอิทธิพลและทำนายคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่มีความพิการทางกายและการเคลื่อนไหว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ได้แก่ การเห็นคุณค่าในตนเอง แรงสนับสนุนทางสังคม โดยสามารถร่วมทำนายคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่มีความพิการทางกายและการเคลื่อนไหวได้ ร้อยละ 34.8 ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการสร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง และการสนับสนุนทางสังคมของผู้สูงอายุที่มีความพิการทางกายและการเคลื่อนไหวในจังหวัดนครสวรรค์มาเป็นข้อมูลพื้นฐาน ในการวางแผนการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่มีความพิการทางกายและการเคลื่อนไหวให้ดียิ่งขึ้นและคนพิการสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข

คำสำคัญ: คุณภาพชีวิต  ผู้สูงอายุที่มีความพิการทางกายและการเคลื่อนไหว

ติดต่อ

สมาคมนักประชากรไทย
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170


เวลาทำการ

  • วันจันทร์ - วันศุกร์: 8.30-16.30 น.
  • วันเสาร์ วันอาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกต์: ปิด