บทคัดย่อ

การประชุมวิชาการประชากรศาสตร์แห่งชาติ 2564 รูปแบบออนไลน์
โดย สมาคมนักประชากรไทย
วันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2564


ระเบียบวิธีวิจัย และแรงงานกับการย้ายถิ่น

บทคัดย่อ

นโยบายการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อาจส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไทย การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของโรงเรียนในสังกัดสพฐ. และแสดงอุปสรรคในการเดินทางในพื้นที่ตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบจากการควบรวมโรงเรียน โดยใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ การวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ Average Nearest Neighbor ซึ่งเสนอเป็นค่า Nearest Neighbor Index (NNI) แสดงการกระจายตัวของโรงเรียนภายใต้สพฐ. ทั่วประเทศ ผลการศึกษาพบว่า ภาคเหนือมีโรงเรียนขนาดเล็กมากที่สุด ลักษณะกระจายตัวแบบกลุ่มก้อน (clustered distribution) ตามแนวเทือกเขาที่เป็นพื้นที่ลาดชัน ห่างจากถนนสายหลัก หรือมีแม่น้ำคั่นกลาง ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเดินทาง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และ ภาคใต้ โรงเรียนตั้งกระจายตัวแบบสุ่ม (random distribution) มีทั้งโรงเรียนขนาดเล็กและใหญ่ตั้งอยู่ครอบคลุมทั้งพื้นที่ จึงเป็นไปได้ที่อาจควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กบนที่ราบและมีถนนเข้าถึง เพราะนักเรียนสามารถเดินทางไปโรงเรียนได้สะดวก การพิจารณาบริหารจัดการทรัพยากรกระจายตัวแบบสุ่ม อาจทำได้โดยควบรวมเพียงบางโรงเรียนที่การเดินทางไม่ยากลำบาก และส่งเสริมให้แลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขนาดใหญ่กว่าในพื้นที่ใกล้เคียงแทนการควบรวมโรงเรียน ส่วนการกระจายตัวแบบกลุ่มพบข้อจำกัดความลาดชันของพื้นที่ หากควบรวมจะส่งผลต่อการไปโรงเรียน สพฐ.ควรแลกเปลี่ยนสรรทรัพยากรระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กด้วยกันและจากโรงเรียนขนาดใหญ่ให้แก่โรงเรียนขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการศึกษาเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ควรพิจารณาลักษณะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่หลากหลาย และส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมเพื่อให้เด็กไทยเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึง

คำสำคัญ: การกระจายตัวเชิงพื้นที่ การจัดสรรทรัพยากร โรงเรียนขนาดเล็ก ภูมิศาสตร์สารสนเทศ

บทคัดย่อ

ครัวเรือนเกษตรกรจัดอยู่ในกลุ่มที่ยากจนและอ่อนแอที่สุดในประเทศ การเป็นหนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดปัญหาหนึ่งของครัวเรือนเกษตรไทย การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ความเปราะบางกับการเป็นหนี้ของครัวเรือนเกษตรกรไทย และเปรียบเทียบผลกระทบของความเปราะบางระหว่างการเป็นหนี้ในระบบและนอกระบบของครัวเรือนเกษตรกรไทย การศึกษาครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ ด้วยข้อมูลทุติยภูมิจากโครงการการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ การศึกษาครั้งนี้วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงอนุมาน ได้แก่ สถิติถดถอยโลจิสติกทวิ จากการศึกษาพบว่า ครัวเรือนตัวอย่างทั้งหมด 43,210 ครัวเรือนเป็นครัวเรือนเกษตรกรรม 10,493 ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 24.2 ของครัวเรือนทั้งหมด และจากสถานการณ์ความเปราะบางกับการเป็นหนี้ พบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบเป็นหลักมากถึง 6,667 ครัวเรือน (ร้อยละ 68.1) ครัวเรือนที่เป็นหนี้นอกระบบเป็นหลัก 446 ครัวเรือน (ร้อยละ 1.7) และการศึกษาผลกระทบของความเปราะบางระหว่างการเป็นหนี้ในระบบและนอกระบบ พบว่า ในแบบจำลอง A และ B มีปัจจัยความเปราะบางที่สามารถทำนายโอกาสการเป็นหนี้ร่วมกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ เพศของหัวหน้าครัวเรือน อายุของหัวหน้าครัวเรือน จำนวนสมาชิกในครัวเรือน ครัวเรือนที่มีสมาชิกไปทำงานต่างถิ่น สินทรัพย์ทางการเงินที่ครัวเรือนเก็บออม การเป็นเจ้าของที่ดินทำกิน ภูมิภาค และการได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอกหรือหน่วยงานต่าง ๆ  อีกทั้งยังพบได้ว่า ครัวเรือนที่เป็นหนี้นอกระบบมีปัจจัยความเปราะบางที่เพิ่มโอกาสในการกู้ยืมมากกว่าเป็นครัวเรือนที่หนี้ในระบบ

คำสำคัญ: ความเปราะบาง หนี้ในระบบ หนี้นอกระบบ ครัวเรือนเกษตรกรไทย

บทคัดย่อ

ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19) ยังคงมียอดผู้ติดเชื้อ รวมถึงผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ข้อมูล ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก รวม108,293,836 ราย มีผู้เสียชีวิต รวม 2,378,759 ราย สำหรับประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อ รวม 24,279 ราย มีผู้เสียชีวิต รวม 80 ราย

วัตถุประสงค์ของการศึกษา คือ (1) ศึกษาการกระจายตัวและตรวจสอบการกระจุกตัวของกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศ (2) วิเคราะห์ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระจายตัวของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ (3) วิเคราะห์หาแบบจำลองทางเศรษฐมิติที่เหมาะสมเพื่อคาดการณ์การกระจายตัวของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ
วิธีที่ใช้ในการศึกษา คือ นำข้อมูลผู้ติดเชื้อในประเทศ (วันที่ 12 มกราคม – 27 เมษายน 2563) ข้อมูลดาวเทียมและภูมิสารสนเทศ รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจสังคม มาวิเคราะห์สถิติเชิงพื้นที่

ผลที่ได้จากการศึกษา พบว่า (1) อัตราการติดเชื้อ COVID-19 และผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (ต่อหัวประชากร)มีความสัมพันธ์เชิงพื้นที่กันอย่างมีนัยสำคัญในทิศทางเดียวกัน และบริเวณที่มีการกระจุกตัวของจังหวัดที่มีค่าสูงใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และสงขลา บริเวณที่มีการกระจุกตัวของจังหวัดที่มีค่าต่ำใน 14 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย นครสวรรค์ เลย เพชรบูรณ์ หนองคาย อุดรธานี สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น และมหาสารคาม (2) อัตราการติดเชื้อ COVID-19 และค่าดัชนีแสดงสว่างในเวลากลางคืน มีความสัมพันธ์เชิงพื้นที่กันอย่างมีนัยสำคัญในทิศทางเดียวกัน และบริเวณที่มีการกระจุกตัวของจังหวัดที่มีค่าสูงใน 7 จังหวัด ซึ่งเป็นจังหวัดเดียวกันกับผลการศึกษาข้อ (1) และจังหวัดปัตตานี บริเวณที่มีการกระจุกตัวของจังหวัดที่มีค่าต่ำ รวม 14 จังหวัด ซึ่งเป็นจังหวัดเดียวกันกับผลการศึกษา ข้อ (1) (3) อัตราการติดเชื้อ COVID-19 และสัดส่วนของโรงพยาบาลต่อประชากร มีความสัมพันธ์เชิงพื้นที่กันอย่างมีนัยสำคัญในทิศทางเดียวกัน และบริเวณที่มีการกระจุกตัวของจังหวัดที่มีค่าสูงใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สงขลา และปัตตานี บริเวณที่มีการกระจุกตัวของจังหวัดที่มีค่าต่ำใน 10 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น และมหาสารคาม

คำสำคัญ: โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 สถิติเชิงพื้นที่ ค่าแสดงสว่างในเวลากลางคืน ภูมิสารสนเทศ ข้อมูลเศรษฐกิจสังคม

บทคัดย่อ

บทความนี้ศึกษาระดับความสัมพันธ์ทางสังคมและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อระดับความสัมพันธ์ทางสังคมในกลุ่มทายาทรุ่นที่ 2 ของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในจังหวัดสมุทรสาคร ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ มีหน่วยในการวิเคราะห์ระดับปัจเจก กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ทายาทรุ่นที่ 2 ของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในอำเภอเมืองสมุทรสาคร จำนวน 380 คน โดยสุ่มตัวอย่างแบบสองขั้นตอน เก็บรวบรวมข้อมูลเมื่อกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2563 ด้วยแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาและการวิเคราะห์ถดถอยพหุคุณ ผลการวิจัยพบว่า ทายาทรุ่นที่ 2 ของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาเป็นหญิงร้อยละ 52.4 มีอายุเฉลี่ย 23 ปี ราว 3 ใน 5 สำเร็จการศึกษาภาคบังคับของไทย และร้อยละ 9.7 เป็นผู้ว่างงาน ส่วนใหญ่มีประสบการณ์การทำงาน  1-5 ปี มีความรู้เรื่องสิทธิการทำงานในระดับค่อนข้างสูงและสูง รวมร้อยละ 66.3 ได้รับการขัดเกลาแบบสังคมไทย มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อและความรู้เรื่องการขอแปลงสัญชาติไทยในระดับสูง ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางสังคมในระดับสูง รวมร้อยละ 43.2 โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อนร่วมงานคนไทย ซึ่งหมายถึง การที่ทายาทรุ่นที่ 2 ของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมามีปฏิสัมพันธ์ทางร่างกายและจิตใจ กับเพื่อนร่วมงานคนไทย หัวหน้างานคนไทยในระดับสูง เช่น การทำงานเท่าเทียมกับเพื่อนร่วมงานคนไทย ในระดับบ่อยครั้งและเป็นประจำ รวมร้อยละ 90.2 และพบว่า 6 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ทางสังคมในกลุ่มทายาทรุ่นที่ 2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้แก่ เพศ ระยะเวลาที่ได้รับการศึกษาในโรงเรียนไทย ประสบการณ์การทำงาน ความรู้เรื่องสิทธิการทำงาน การขัดเกลาทางสังคม และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อ ความรู้เรื่องการขอแปลงสัญชาติไทย ซึ่งตัวแปรทั้งหมดสามารถอธิบายการผันแปรของความสัมพันธ์ทางสังคมในกลุ่มทายาทรุ่นที่ 2 ได้ร้อยละ 42.8 (R2 = 0.428)

คำสำคัญ : ความสัมพันธ์ทางสังคม ทายาทรุ่นที่ 2 แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา

ติดต่อ

สมาคมนักประชากรไทย
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170


เวลาทำการ

  • วันจันทร์ - วันศุกร์: 8.30-16.30 น.
  • วันเสาร์ วันอาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกต์: ปิด