บทคัดย่อ

การประชุมวิชาการประชากรศาสตร์แห่งชาติ 2564 รูปแบบออนไลน์
โดย สมาคมนักประชากรไทย
วันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2564


ครอบครัวกับการทำงาน

บทคัดย่อ

โพธิจิต เป็นแนวคิดสำคัญของนิกายมหายาน หมายถึง การให้ความสำคัญอันดับแรกกับการช่วยเหลือผู้อื่น  หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่ง หมายถึง ความมีจิตอาสาและความรับผิดชอบต่อสังคม  การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการปลูกฝังจิตอาสาและความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่เยาวชนของครอบครัวในสังคมเมือง การวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Method) ให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นบนฐานคติของการตีความ (Interpretative) ภายใต้ระเบียบวิธีวิจัยภาคสนามแบบกรณี (Case Studies) เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ระดับลึก (In-dept Interview) กับเยาวชนอายุระหว่าง 14 -18 ปี จำนวน 15 ราย และผู้ให้ข้อมูลสำคัญ 8 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลเมื่อ ธันวาคม 2563 ถึง มกราคม 2564  ผลการวิจัยพบว่า เยาวชนที่มีจิตอาสาในการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น และมีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือภาวะที่เรียกว่ามี “โพธิจิต” นั้น ได้ถูกอบรมเลี้ยงดูหล่อหลอมและเติบโตมาจากครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นต้นแบบของความมีจิตอาสาและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งพ่อแม่ได้ลงมือปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง ให้อิสระกับลูกในการคิดและลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง พร้อมกับต้องรับผิดชอบผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ

คำสำคัญ:  โพธิจิต  จิตอาสา  ความรับผิดชอบต่อสังคม  ครอบครัว  กระบวนการ 

บทคัดย่อ

บทความนี้นำเสนอโครงสร้างของครัวเรือนที่มีผลต่อปฏิบัติการทางสังคมของผู้หญิงที่สามีย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ ทำให้ผู้หญิงที่มีสามีย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศมีปฏิบัติการทางสังคมได้หลากหลาย โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ มีหน่วยวิเคราะห์เป็นระดับปัจเจก เก็บข้อมูลจากผู้หญิงที่สามีย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป จำนวน 20 ราย  และครัวเรือนของผู้หญิงที่สามีย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 10 ราย ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในตำบลค้อใต้ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีปรากฏการณ์การย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศของแรงงานชายอย่างต่อเนื่อง เก็บรวบรวมข้อมูลในเดือน สิงหาคม – กันยายน 2563 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และนำเสนอข้อมูลด้วยการพรรณนาวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่า โครงสร้างของครัวเรือนที่มีผลต่อการปฏิบัติการทางสังคมของผู้หญิงที่สามีย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ มีความแตกต่างตามรูปแบบการอยู่อาศัยในครัวเรือนของผู้หญิงที่สามีย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ 3 รูปแบบ ได้แก่ ครัวเรือนเดี่ยว ครัวเรือนที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ของผู้หญิงเอง และครัวเรือนที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ของสามี ครัวเรือนแต่แบบเป็นทั้งส่วนที่สนับสนุน และผลักดันให้ผู้หญิงเกิดปฏิบัติการทางสังคม ผ่านโครงสร้าง 3 ประเภท ได้แก่ การสร้างความชอบธรรมในครัวเรือน (Legitimation) โดยบรรทัดฐานของสังคมเพื่อให้ผู้หญิงเป็นผู้หญิงที่ดี มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ  การควบคุมในครัวเรือน (Domination) ด้วยสถานภาพของผู้หญิงในครัวเรือนเป็นตัวกำหนด และการสร้างความหมายในครัวเรือน (Signification) ที่แสดงออกถึงความต้องการของคนในครัวเรือน อย่างไรก็ตาม โครงสร้างทั้ง 3 ประเภททำให้ผู้หญิงต้องมีปฏิบัติการทางสังคมเมื่อสามีย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ

คำสำคัญ: โครงสร้างของครัวเรือน ปฏิบัติการทางสังคม

บทคัดย่อ

บทความนี้มุ่งศึกษาแบบแผนการย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศกับการเปลี่ยนผ่านของสังคมอีสานสมัยใหม่ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ แบบปรากฏการณ์วิทยา มีหน่วยวิเคราะห์ข้อมูลระดับปัจเจก ครัวเรือน และชุมชน เก็บข้อมูลเมื่อกุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2563 ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับแรงงานอีสานย้ายถิ่นกลับจากการไปทำงานต่างประเทศ 30 ราย สัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างกับครัวเรือนแรงงาน 25 ครัวเรือน ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 8 ราย และสัมภาษณ์กลุ่มกับผู้นำชุมชน 21 ราย ใช้วิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า สังคมอีสานเกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างสังคม โดยเปลี่ยนจากระบบการผลิตแบบเกษตรเพื่อยังชีพสู่การเกษตรเชิงพาณิชย์ และให้ความสำคัญกับตัวเงินตามกระแสทุนนิยม จึงเกิดวิถียังชีพที่ต้องการยกฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนผ่านการย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ โดยมีแบบแผนการย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ 4 ลักษณะ ได้แก่ (1) ยุคบุกเบิกการไปทำงานเมืองนอก คนวัยแรงงานชายที่เป็นโสด เริ่มไปทำงานก่อสร้างที่ประเทศตะวันออกกลางจากการชักชวนของนายหน้าด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ (2) ยุคย้ายถิ่นไปเอเชียตามความนิยม คนอีสานเริ่มย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศผ่านนายหน้า โดยไปทำงานที่ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ มักทำงานโรงงาน งานเกษตร และงานก่อสร้าง (3) ยุคย้ายถิ่นไปกับกรมการจัดหางาน เป็นช่วงที่มีโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ ทำให้มีแรงงานไปทำงานแบบถูกกฎหมายมากขึ้น แต่แรงงานบางส่วนมองว่ามีความล่าช้า จึงเลือกไปแบบผิดกฎหมาย และ (4) ยุคนิยมไปท่องเที่ยว คนอีสานเริ่มมีค่านิยมรักความสะดวกสบาย รักอิสระ ต้องการเปิดประสบการณ์ ประกอบกับมีเครือข่ายในต่างประเทศ จึงทำให้ผู้ที่ไม่เคยย้ายถิ่น เริ่มย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศแบบผิดกฎหมายมากขึ้น

คำสำคัญ: แบบแผนการย้ายถิ่น การไปทำงานต่างประเทศ สังคมอีสานสมัยใหม่

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ศึกษาแบบแผนการทำงานของประชากรแฝงในจังหวัดขอนแก่น และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับแบบแผนการทำงานของประชากรแฝงในจังหวัดขอนแก่น ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ หน่วยในการวิเคราะห์ระดับปัจเจก กลุ่มตัวอย่างคือ ประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานในจังหวัดขอนแก่นจำนวน 1,013 คน โดยเลือกตัวอย่างจากข้อมูลทุติยภูมิระดับย่อยโครงการสำรวจการย้ายถิ่นของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเก็บข้อมูลเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2562 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติไคสแควร์ ผลการวิจัยพบว่า ประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานในจังหวัดขอนแก่นมีแบบแผนการทำงานในภาคเกษตรกรรม (เกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง) ร้อยละ 56.0 รองลงมาคือ ภาคบริการ (ขายส่ง ขายปลีก ซ่อมรถจักรยานยนต์ และยานยนต์) ร้อยละ 29.8 ส่วนภาคอุตสาหกรรม เพียงร้อยละ 14.2 นอกจากนี้ยังพบว่า เพศ อายุ ระดับการศึกษา สถานภาพการทำงาน ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ แบบแผนการเดินทางไปกลับ ระยะทางเดินทางต่อวัน และค่าใช้จ่ายการเดินทางต่อเดือน เป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับแบบแผนการทำงานของประชากรแฝงในจังหวัดขอนแก่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และเป็นที่น่าสังเกตว่าประชากรแฝงที่มีแบบแผนการเดินเข้าไปยังเขตเมืองส่วนใหญ่มีแบบแผนการทำงานในภาคบริการแสดงให้เห็นว่าเมืองขอนแก่นเป็นแหล่งงานของภาคบริการ

คำสำคัญ: แบบแผนการทำงาน แบบแผนการเดินทางไปกลับ ประชากรแฝง

ติดต่อ

สมาคมนักประชากรไทย
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170


เวลาทำการ

  • วันจันทร์ - วันศุกร์: 8.30-16.30 น.
  • วันเสาร์ วันอาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกต์: ปิด